หากพูดถึงกีฬา Powerlifting เชื่อแน่ว่าหลาย ๆ คนคงสับสน ว่ามันเหมือนกับกีฬายกน้ำหนักในโอลิมปิกเกม หรือการเพาะกายหรือไม่ อย่างไร มาทำความรู้จักกีฬา Powerlifting กันดีกว่า
Powerlifting เป็นกีฬาที่ต้องมีการยกน้ำหนัก 3 ท่า คือ squat, bench press และ deadlift เป้าหมายก็ง่าย ๆ เลยคือยกน้ำหนักให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะยกได้ ดูเหมือนจะเหมือนกับกีฬายกน้ำหนัก แต่จริง ๆ มีความแตกต่างกันอยู่ เพราะกีฬายกน้ำหนักจะมีการยกเพียง 2 ท่า คือ snatch และ clean and jerk ในการยกทั้งสองท่านั้น น้ำหนักจะต้องถูกยกขึ้นเหนือศีรษะ ต้องใช้ทักษะและเทคนิคมากในการแข่งขันกีฬายกน้ำหนัก ส่วนกีฬาเพาะกายนั้นก็แตกต่างกับ Powerlifting เพราะเพาะกายเน้นที่การสร้างกล้ามเนื้อแต่ละส่วนให้สมบูรณ์ทั้งขนาดและความคมชัดจึงไม่ได้เน้นที่ความแข็งแรงเท่าใดนัก เพราะเน้นที่ความสวยงามเป็นสำคัญ
แล้วกีฬา Powerlifting มันมีข้อดีหรือจุดเด่นเหนือกว่าแบบที่ใกล้เคียงกันอย่างไรล่ะ
การฝึก Powerlifting ใช้การฝึกยกน้ำหนักที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ช่วยลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อทุกมัดให้สามารถทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี ดีกว่าแยกประเภทการออกกำลังเฉพาะทางเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อแต่ละส่วน นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ เร่งการเผาผลาญไขมันได้ แม้ในขณะที่คุณกำลังพัก ช่วยให้ลดน้ำหนักได้เร็วขึ้นอีกด้วย ความแข็งแรงโดยรวมที่เกิดขึ้นทุกส่วน ยังช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาประเภทอื่นได้ด้วย เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน แม้แต่ในกิจกรรมกลางแจ้งอย่างอื่น เช่น การเดินป่า การปีนเขา เป็นต้น
ฟังดูน่าสนใจแต่ปรากฏว่า Powerlifting ยังไม่ได้รับการบรรจุให้เป็นชนิดกีฬาในโอลิมปิกเกม ซึ่งหลายคนก็ยังสับสนว่ามันเหมือนกันกับกีฬายกน้ำหนักซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ แต่ Powerlifting ได้ถูกบรรจุเป็นชนิดกีฬาในพาราลิมปิกแล้วนะ เพียงแต่ใช้แค่ท่า bench press เพื่อทดสอบความแข็งแรงของร่างกายส่วนบนเท่านั้น นักกีฬาบางคนสามารถทำน้ำหนักได้มากกว่าน้ำหนักตัวถึง 3 เท่าเลยทีเดียว น่าประทับใจมากจริง ๆ ถึงอย่างไรก็ตามกติกาในการแข่งขันและตัดสินก็ยังมีความแตกต่างกันบ้างสำหรับความพิการทางร่างกายในแต่ละประเภท
การแข่งขัน Powerlifting เป็นอย่างไร
การจัดการแข่งขันมีตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ภาค เพื่อคัดเลือกตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันในระดับประเทศซึ่งแบ่งตามช่วงอายุ และน้ำหนักของผู้เข้าแข่งขัน ผลการแข่งขันขึ้นอยู่กับ วิลก์ส(Wilks) ซึ่งจะพิจารณาเรื่องของน้ำหนักตัวและการเพิ่มน้ำหนักที่ยกด้วย เพราะคนที่มีน้ำหนักตัวเยอะมีแนวโน้มที่จะยกน้ำหนักได้มากกว่าคนที่ตัวเล็กหรือน้ำหนักน้อยกว่า จากผลการแข่งขันพบว่าคนเตี้ยมีแนวโน้มที่จะยกน้ำหนักได้มากกว่า เนื่องจากแขนที่สั้นจะมีที่ยกน้ำหนักสั้นกว่าการยกน้ำหนักจึงทำได้ง่ายกว่า ในการฝึกต้องควบคุมไขมันในร่างกายควบคู่ไปด้วย เพราะไขมันที่มากขึ้นก็ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มด้วยเช่นกัน
Powerlifting มี 2 ประเภทคือใช้อุปกรณ์กับไม่ใช้อุปกรณ์ การแข่งขันแบบใช้อุปกรณ์ส่วนมากเป็นชุดหรืออุปกรณ์ในการรัดข้อต่อต่าง ๆ เพื่อเพิ่มกำลังในการยกให้มากขึ้น สำหรับแบบไม่ใช้จะอนุญาตให้ใช้ได้ไม่กี่ประเภทเท่านั้น เช่นสนับเข่า สนับมือ เข็มขัดยกน้ำหนัก แต่กรรมการอาจจำกัดชนิดของอุปกรณ์หรือกำหนดไม่ให้ใช้บางอย่างก็ได้
Credit : https://cdn.pixabay.com/photo/2020/01/09/23/32/sports-4754176_960_720.jpg